ต้นพะยูง ไม้มงคลช่วยหนุนให้ร่ำรวย มีสรรพคุณทางยา
ต้นพะยูง ( Rosewood ) เป็นไม้มงคล ซึ่งให้ความหมายตามชื่อว่าช่วยประคอง และยังเชื่ออีกว่า ไม้พยุงช่วยหนุนให้ร่ำรวย ช่วยพยุงชีวิตไม่ให้ลำบาก เป็นไม้ค้ำดวง ค้ำวาสนา ทำให้คนในบ้านฐานะดี และยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาค่อนข้างสูง สามารถนำต้นไปแปรรูปได้หลายอย่าง และในส่วน เปลือก ราก ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของต้นพะยูง
ต้นพะยูง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกไม้ล่อนออกง่าย ด้านในเป็นสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงเข้ม และมีความแข็งแรงมาก แก่นในมีรสชาติขม ใบพะยูง เป็นช่อติดเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ใบเหนียวคล้ายหนังบาง ดอกพยูงมีขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ออกผลเป็นฝัก เมล็ดสีน้ำตาล
สรรพคุณทางยา ต้นพะยูง
- แก่นเนื้อในของพยุงหรือเปลือกที่ล่อนออกจากต้น สามารถนำไปต้มทำเป็นน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคมะเร็ง
- ส่วนของรากนำมาต้มใช้กินเป็นยามีส่วนช่วยรักษาอาการไข้พิษเซื่องซึมได้
- เปลือกนำมาต้มนำมา ใช้เป็นยาอมรักษาโรคปากเปื่อย ปากแตกระแหง
- ยางสดที่นำมาจากลำต้นสามารถนำมาทาปาก ช่วยรักษาโรคปากเปื่อย
- ยางสดจากลำต้นมาสามารถนำมาใช้ทารักษาอาการเท้าเปื่อย
- ประโยชน์ของพะยูง ผลใช้ทำเป็นไม้ประดับแห้งได้
ไม้พะยูง เนื่องจากพะยูงมีเนื้อไม้ที่มีสีสันและลวดลายสวยงามไม้พยุง จนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดโลก (แพงกว่าไม้สักหลายเท่า) เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ภายในประเทศคือการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออก (เบื้องต้นอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 800 บาท คิวละ 2-6 แสนบาท (ในขณะที่ไม้สักคิวละประมาณ 3-5 หมื่นบาท) แต่ถ้าส่งออกจะมีราคาแพงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว) เพราะเนื้อไม้พะยูงเป็นไม้ที่ละเอียดเหนียว มีความแข็งแรงทนทาน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว นิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำสิ่งประดิษฐ์ งานแกะสลัก ไม้ถือและด้ามเครื่องมือ ที่มีคุณภาพดีและราคาแพง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน ทำกระบะยนต์ ด้ามหอก คันธนู หน้าไม้ กระสวยทอผ้า ใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย รำมะนา ลูกระนาด โทน ฯลฯ
หรือใช้ทำเป็นวัตถุมงคลและของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว ตัวปี่เซียะ เป็นต้น ในปัจจุบันไม้พะยูงจัดเป็นไม้สงวน หากใครมีไว้ในครอบครองจะถือว่ามีความผิด (มีสถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก) เนื่องจากในเวลานี้ไม้พะยูงถือว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น และกำลังเผชิญกับสภาวะที่ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ ส่วนในประเทศอื่น ๆ อย่างประเทศลาวที่เคยมีมากก็หมดไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่คนไทยไม่ใช้ประโยชน์จากไม้พะยูงมากเท่าใดนัก ก็คงเป็นเพราะไม้ชนิดนี้มีราคาสูงมากบวกกับคนไทยมีความเชื่อบางอย่าง ที่เชื่อว่าไม้พะยูงเป็นของสูง ผู้ที่มีบารมีไม่ถึงไม่สมควรเอามาใช้ เพราะจะมีปัญหาภายหลัง (ยกเว้นเอามาทำเป็นหิ้งพระ) ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงไม่นิยมนำไม้พะยูงมาทำเป็นไม้กระดาน บันไดบ้าน และเตียงนอน ใช้เพียงแต่ทำรั้วบ้านเท่านั้น ประโยชน์ของไม้พะยูงกับการเลี้ยงครั่ง ไม้พะยูง เป็นไม้ที่สามารถนำมาเลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยสามารถให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม และทำให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรดเอ
ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลนาม ตามชื่อที่พ้องกับคำว่า “พยุง” ที่หมายถึง การประคองให้อยู่ในสภาพปกติ ช่วยให้ทรงตัวได้ จึงมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นพะยูงไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ ช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย และต้นพะยูงยังจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์วัตถุต่าง ๆ เช่น ในการนำมาใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นพะยูงในวันเสาร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้ปลูก ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพบุรุษ เพราะพยุงเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพบุรุษ อีกทั้งแก่นไม้พยุงก็มีความแข็งแกร่งทนทานจึงเปรียบเทียบได้กับความแข็งแรงของสุภาพบุรุษนั่นเอง นอกจากนี้พะยูงยังจัดเป็น 1 ใน 9 ของไม้มงคลไทยอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย ราชพฤกษ์, ชัยพฤกษ์, ขนุน, ทองหลาง, ทรงบาดาล ไผ่สีสุก, สัก, กันเกรา, และพะยูง การใช้งานด้านภูมิทัศน์ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงาที่สาธารณะหรือในบริเวณบ้านได้ เนื่องจากมีพุ่มใบละเอียดและมีดอกหอม