กิตติ  พ่วงพานทอง นักเล่นบอนไซ

กิตติ  พ่วงพานทอง นักเล่นบอนไซ

กิตติ  พ่วงพานทอง นักเล่นบอนไซ รุ่นใหญ่ เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีผลงานและได้คว้ารางวัลการทำบอนไซในงานต่างๆ มากมาย  ด้วยการที่มีใจรักทำให้เกิดบอนไซที่มีความละเอียด  และประณีต  อย่างมาก  เพราะด้วยมีฝีไม้ลายมือที่ยอดเยี่ยมและหาใครเทียบได้   คนในวงการบอนไซต่างก็ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี  ในชื่อของ  “ครูน้อย”  

คุณ  กิตติ  พ่วงพานทอง  นักเล่นบอนไซ    เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยก่อนการเล่นบอนไซของคนส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการขุดต้นไม้จากธรรมชาติ  ขุดตามหลังบ้าน  หรือท้ายไร่ท้ายนา  แล้วนำมาปลูกเลี้ยงเพื่อเป็นไม้ประดับ  แต่ในปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่เคยได้จากธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงและหายาก  ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาขยายพันธุ์ด้วยการตอน  เพาะเมล็ด  และตอนกิ่ง  กันมากขึ้น  แต่การทำบอนไซนั้นต้องอาศัยต้นตอที่สวยงามด้วย  อย่างพวกไม้ที่เพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง  จะหาต้นตอยาก  เพราะต้องใช้เวลาในการเลี้ยงค่อนข้างนาน  แล้วส่วนใหญ่รากจะเล็ก ไม่ค่อย มีโขด หรือมีโคนราก   ไม่เหมือนกับไม้ที่นำมาจากป่า  จะมีโคนรากใหญ่  เป็นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ เหมาะกับการมาทำเป็นบอนไซ

ครูน้อยกล่าวว่า ที่หลังบ้านได้ทำการสร้างตอไว้เหมือนกัน  เพื่อเป็นแหล่งวัตุดิบสำรองให้กับตัวเอง   ส่วนตัวครูน้อยมีความสนใจในไม้ไทยและได้นำไม้เด่นของเพชรบุรี  อย่างเช่น เกล็ดปลาหมอ  หนามพรม  ไม้ซากเทียนทะเล  หรือหมากเล็กหมากน้อย  ตะโก   เพรมน่า  มะสัง  มะขาม

ซึ่งแต่ละต้นจะมีข้อดีแตกต่างกันไป แต่เหมาะที่จะนำมาทำบอนไซอย่างยิ่ง  ครูน้อยได้แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงบอนไซว่า  เราต้องเลี้ยงในที่มีอากาศดี  โปร่ง  และแสงแดดดี  จะทำให้ไม่มีโรค   ส่วนการใส่ปุ่ย นานๆ ให้ใส่ครั้งหนึ่งก็พอ  อาจจะใส่เป็นปุ๋ยเคมีบ้าง  ปุ๋ยคอกบ้างก็ได้    ส่วนการตัดแต่งใบ  ให้ใช้เป็นกรรไกรตัดจะดีกว่าการใช้มือเด็ด หรือการใช้มีด เพราะจะได้ไม่ไปทำให้กิ่งฉีกและตากิ่งเสียหาย   ที่สำคัญมีไม้บางชนิดไม่ควรริดใบออกหมดเพราะจะทำให้ไม้ทิ้งกิ่ง  ฉะนั้นในการริดใบจะต้องริดแบบเอาปลายใบไว้ด้วย

คุณ  กิตติ  พ่วงพานทอง  นักเล่นบอนไซ    กล่าวว่า การทำบอนไซ เป็นงานศิลปะ ที่ต้องคิดออกแบบให้ดูดี  ซึ่งต้องใช้เวลา และยังต้องใช้ฝีมือในการทำอย่างมาก   ซึ่งทุกครั้งที่ได้ทำบอนไซ จะรู้สึกผ่อนคลาย  ไม่เครียด  ไม่ฟุ้งซ่าน  มีสมาธิ   ช่วยทำให้จิตใจสงบได้เป็นอย่างดี

 

 

 


1000maidee.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *