กล้วยไม้แวนด้า
กล้วยไม้ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ นั้น แท้ที่จริงแล้ว เขามีอยู่ด้วยกันมากมายหลายสกุลเลยล่ะค่ะ ทั้งแคทรียา , ฟาแลนนอปซิน ฯลฯ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงกล้วยไม้สกุลแวนด้าค่ะ
แวนด้า คือกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยลค่ะ ซึ่งถูกพบในป่าตามธรรมชาติ โดยถูกจำแนกได้เป็นประมาณ 40 ชนิด กระจายกันออยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ฯลฯ เราสามารถจำแนกประเภทของแวนด้าได้จากลักษณะของใบค่ะ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท นั่นก็คือ
แวนด้าใบกลม
ลักษณะของใบจะเป็นทรงทรงกระบอก กลมยาว ค่ะ มีหลายชนิดด้วยกัน ทั้ง แวนด้าฮุกเกอเรียนา หรือจะเป็นพันธุ์ที่เป็นลูกผสม เช่น แวนด้า โจคิม ซึ่งมาจากการผสมระหว่าง แวนด้า ฮุกเกอเรียนา กับเอื้องโมก เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ผสมขึ้นมา จึงทำให้เลี้ยงได้ง่าย และออกดอกเก่งค่ะ ถ้าหากว่าท่านไหนที่ อยากลองเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้ดู ขอแนะนำให้เลือกเป็น แวนด้าใบกลม ก่อนค่ะ เนื่องจากแวนด้าใบกลมนั้น ถือเป็นแวนด้าประเภทที่เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกกลางแจ้งได้ค่ะ จึงน่าจะเหมากับมือใหม่ที่ยังไม่มีโรงเรือน แต่ข้อเสียคือดอกมักจะบานได้ไม่นานค่ะ
แวนด้าใบแบน
ลักษณะของใบแผ่แบน มีหน้าตัดตรงใบเป็นรูปตัววี ข้อถี่ และปล้องสั้นค่ะ มีอยู่หลายชนิดด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ฟ้ามุ่ย , สามปอยนก , เข็มขาว เป็นต้น และถ้าหากว่า แวนด้า ที่เลี้ยงง่ายที่สุดคือแวนด้าใบกลมล่ะก็ แวนด้าที่เลี้ยงยากที่สุดก็ต้องยกให้แวนด้าใบแบนเลยค่ะ
แวนด้าใบร่อง
แวนด้าประเภทนี้ไม่ถูกพบในธรรมชาตินะคะ เพราะเกิดจากการนำแวนด้าใบแบน และ แวนด้าก้างปลามาผสมกันค่ะ โดยลักษณะใบจะออกไปทางแวนด้าใบแบนค่ะ ตัวอย่างเช่น แวนด้า บลูมูน , แวนด้า ที เอ็ม เอ เป็นต้น
แวนด้าก้างปลา
แวนด้าประเภทนี้มีลักษณะใบกึ่งกลมกึ่งแบนค่ะ จริง ๆ แล้วแวนด้าประเภทนี้ค่อนข้างหาได้ยาก อีกทั้งยังพบได้น้อยในธรรมชาติอีกด้วยค่ะ เท่าที่พบมี 2 ชนิด ได้แก่ แวนด้า อะเมสเซียนา และแวนด้า คิมบาลเลียนา ซึ่งกล้วยไม้สองชนิดนี้คาดว่าจะไม่ใช่ชนิดแท้ค่ะ เนื่องจากตรวจพบว่ากล้วยไม้สองชนิดนี้เป็นหมัน แวนด้าก้างปลา ที่มีให้พบในปัจจุบันเกิดจากการที่มนุษย์นำมาผสมจนเกิดเป็นสายพัรธุ์ใหม่ค่ะ เช่น แวนด้า มาเจสติก , แวนด้า เอ็มมา แวน ดีเวนเตอร์ เป็นต้น และนี่ก็คือเรื่องราวพอสังเขปของกล้วยไม้สกุลแวนด้านั่นเองนะคะ หากท่านไหนที่สนใจอยากลองเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้ดู น่าจะถือเป็นอีกสกุลนึงที่มีความสวยงามอีกทั้งยังเลี้ยงไม่ยากอีกด้วยนะคะ